วันนี้ก็เลยมีมาอัพเดทเพิ่มกันให้ดูอีกบางส่วน เป็นการทำคราบฝุ่นที่พื้นครับ
ตอนที่ทำผมลืมถ่ายขั้นตอนแรกไว้ คือการ wash ด้วยสีน้ำมัน raw umber ก่อนเป็นขั้นแรก เพื่อเน้นร่องรอยต่างๆบนพื้น และเป็นการย้อมให้สีที่ลงไว้หลายเฉดดูกลมกลืนกันครับ
ส่วนขั้นที่ 2 หลังจากทิ้งไว้ให้แห้งแล้ว ก็ทำคราบฝุ่นด้วย สีฝุ่นของ MIG ผมใช้ 2 สี คือ Light dust กับ Europe dust มาผสมกัน แล้วเอาทินเนอร์ของ MIG (Thinner for washes) มาผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำไปทาให้ทั่วครับ ให้สีไหลลงไปค้างตามร่องอย่างในรูป (ภาพแรกของบทความ:Luck)
หลังจากแห้งแล้วก็เอานิ้ว หรือทิชชู่ไปถูออกเบาๆครับ
ข้อดีของสีฝุ่น MIG คือ ถ้าเราใช้ Thinner for washes ผสม สีฝุ่นจะแค่เกาะผิวครับ เอามือลูบหรือเช็ดออกได้ แต่ถ้าผสมด้วย Pigment Fixer สีฝุ่นจะยึดเกาะได้ดีกว่านี้ และเช็ดออกยาก ส่วนสีฝุ่นแบบแท่งที่มีขายทั่วไป ก็ใช้ได้เช่นเดียวกันครับ แต่ต้องเอามาขูดให้เป็นผง และผสมให้ได้สีตามต้องการด้วยตัวเองครับ ซึ่งคุณภาพถ้าเทียบกันแล้ว เนื้อสีฝุ่นของ MIG มีคุณภาพดีกว่า แต่มีข้อเสียคือ ราคาแพงและหาซื้อยากครับ และสีฝุ่นเวลานำมาใช้ในงาน ควรจะผสมให้สีสว่างกว่าที่ต้องการครับ เพราะเวลาที่พ่นเคลียร์เพื่อเคลือบชิ้นงาน สีฝุ่นจะเข้มขึ้นครับ
ส่วนอีกวิธีในการทำ สำหรับท่านที่ยังไม่มีหรือหาซื้อสีฝุ่นไม่ได้ ลองใช้สีอะครีลิคสูตรน้ำครับ อย่างที่ผมใช้เป็นแบบหลอด เอาสีเยลโล่ว์โอ๊ค ผสมกับขาว และน้ำตาลนิดหน่อย ให้สีออกโทนสีทรายครับ จากนั้นผสมกับน้ำ แล้วละเลงให้ทั่ว ให้สีวิ่งไปเกาะตามร่องเอง ถ้าตรงไหนที่หนาไปก็เอาน้ำทาเกลี่ยครับ
หลังจากแห้งแล้ว จะได้ออกมาดังภาพ งานชุดนี้เป็นงานที่ทำก่อนหน้านี้ครับ ช่วงที่ลองทำเทคนิคหลายๆแบบให้งานมันไว 3 ชิ้นที่เห็นไม่ได้ใช้สีฝุ่นเลยครับ การแต่งเก่า ทำด้วยสีอะครีลิคและสีน้ำมันเป็นหลัก และใช้สีสูตรทินเนอร์ ผสมสีในโทนสีกาแฟใส่นม มาพ่นคลุมอีกที เพื่อให้สีทั้งหมดกลมกลืนกันครับ
ส่วนวิธีการทำซากปรักหักพังนั้น ไว้จะมาลงให้ดูกันอีกทีครับ
No comments:
Post a Comment