Saturday, August 6, 2011

Fall of The Reich, Berlin 1945
part 4
Modeled by Thor Intararangson
ผลงานของคุณต่อลาภ อินทรเรืองศร
*ลงครั้งแรกในเวป MSOT ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2553


วันนี้นำเสนอวิธีการทำซากปรักหักพังต่างๆ ต่อครับ ซึ่งทางทีดีเวลาทำ ลองหาดูรูปจากสงครามจริงๆ มาดูก่อนจะช่วยได้มาอย่างตัวตึกที่ผมทำนั้นจะมีโครงสร้างเป็นอิฐและไม้ผสมกัน เวลาทำจึงต้องคำนึงถึงการที่ส่วนต่างๆ เหล่านี้โดนทำลาย อาจจะจากการทิ้งระเบิดหรือโดนปืนใหญ่ ก็จะกระจัดกระจายลงมากองรวมๆ กันที่พื้น

ในรูปแรกนี้ จึงต้องเอาส่วนต่างๆ แยกไปทำสีไว้ก่อนครับ เพื่อความสะดวก ทั้งเศษไม้ โครงหลังคา ชิ้นส่วนใหญ่ๆ ของตึกที่หักพังลงมา รวมถึงอิฐก้อนเล็กๆ ที่กระจายอยู่ด้วยครับ (ตัดจากปูนปลาสเตอร์แล้วเกลาให้ได้ทรง)
เพราะบางชิ้นนั้นเมื่อเราติดลงทับรวมๆกันแล้ว มันจะเพนท์เก็บยากครับ

ส่วนที่อยู่ในกระป๋องสีส้มๆนั่น เป็นอิฐมอญที่ขอมาจากที่ก่อสร้าง แล้วเอามาทุบให้ละเอียดครับ เพื่อเอามาโรยเป็นเศษซากหักพัง เพราะว่าสีนั้นจะเข้ากันอยู่แล้ว อาจจะแค่แต่งเพิ่มอีกบางส่วน สำหรับอุปกรณ์ที่จะใช้ยึดทุกส่วนให้อยู่ร่วมกันคือกาวลาเท็กซ์ครับ แนะนำของ TOA แห้งแล้วจะเหนียวแน่นดีมาก

ฐานหลังจากที่นำไปทำสี และทำการเวทเธอริ่งเสร็จแล้วครับ นำรถมาติดให้เรียบร้อย


(ภาพก่อนโรยอิฐมอญ:Luck)

จากนั้นก็เอาเศษชิ้นใหญ่ๆ ลองจัดวางลงไปครับ แล้วติดด้วยกาวลาเท็กซ์ ใช้ช้อนเล็กๆ ตักเศษอิฐมาโรยลงไปทีละนิดครับ เอากาวลาเท็กซ์มาผสมกับน้ำ ให้ไม่ข้นหรือใสจนเกินไป แล้วใช้พู่กันเบอร์ 1-2 จุ่มกาวไปหยดลงบนกองอิฐที่โรยไว้ครับ สังเกตุได้ง่ายๆว่าอิฐที่ดูดกาวไปแล้วสีจะเข้มขึ้นครับ แต่ถ้ากาวข้นเกินไป เวลาหยดลงบนกองอิฐมันจะจับเป็นก้อนด้านบนและไม่ซึมลงไปครับ แต่ถ้าใสเกินก็จะซึมอย่างรวดเร็วแต่ก็จะไม่ติดกันแน่นพอ

ด้านหลังจะมีช่องว่างระหว่างตัวรถกับตัวตึกอยู่ครับ แต่อยากจะให้มีเศษอิฐกองเยอะๆ ต้องเอาเศษพลาสติกมากั้นเอาไว้ก่อน จะได้ไม่ล้นออกมา

เวลาทำนั้นต้องโรยอิฐและทากาวทีละชั้นครับ เพราะถ้าโรยหนาไปกาวอาจจะซึมลงไปไม่ทั่วถึง ดังนั้นพอลงกาวชั้นแรกเสร็จก็เอามาอิฐมาโรยเพิ่ม และก็ลงกาวใหม่ ถ้าอยากได้กองหนาๆก็ทำหลายรอบหน่อยครับ แต่ถ้ากองใหญ่จริงๆ เอาปูนพลาสเตอร์มาเทก่อน แล้วค่อยเอาอิฐมาโรยแล้วลงกาวจะดีที่สุดครับ ส่วนเศษไม้ เศษอิฐและอาคาร ที่ทำสีแยกไว้ ก็ค่อยมาจัดวางและทำไปทีละจุดครับ

ข้อดีของกาวลาเท็กซ์คือสามารถลงทับได้หลายรอบครับ และเวลาแห้งแล้วก็จะใสและมองไม่เห็น มันจะเหมือนฟิลม์ใสที่ยึดเกาะชิ้นส่วนไว้ด้วยกัน และติดได้แน่นหนาดีครับ ชิ้นเล็กๆน้อยๆที่เห็นกระจายอยู่ทั่วๆนั้น ติดได้แน่นในระดับนึงครับ ถ้าไม่ไปสะกิดแรงๆก็ไม่หลุด ขึ้นอยู่กับจุดที่ผิวสัมผัสกับพื้นครับ ถ้ารู้สึกว่าไม่แน่นพอก็ลงกาวเพิ่มได้ ส่วนข้อเสียคือใช้เวลาแห้งสนิทจริงๆอย่างน้อยวันนึงครับ ในระหว่างที่ยังไม่แห้งนั้นจะยังไม่ติดกันและขยับได้

ดังนั้นถ้าทำทุกส่วนและจัดวางตามแบบที่ต้องการได้เรียบร้อยแล้ว ก็ทิ้งไว้เฉยๆ วันนึงอย่าไปโดนมันอีกครับ รอวันรุ่งขึ้นแล้วค่อยมาขยับชิ้นส่วนที่ติดไว้ดู ถ้าตรงจุดไหนที่ไม่สนิทค่อยเอากาวมาลงใหม่อีกรอบครับ

เสร็จแล้วเป็นแบบนี้ครับ ที่เห็นนี่ยังไม่แห้งสนิทดี เพราะถ้าแห้งสนิททั้งหมดจริงๆ กองอิฐที่โรยไว้จะกลายเป็นสีส้มเหมือนในตอนแรกครับ ส่วนด้านหลังที่เอาแผ่นพลาสติกกั้นไว้ เมื่อทำเสร็จทั้งหมดแล้วค่อยมาแกะออกครับ อย่ารอจนแห้งสนิท

ส่วนด้านหลังที่เอาแผ่นพลาสติกกั้นไว้ เมื่อทำเสร็จทั้งหมดแล้วค่อยมาแกะออกครับ อย่ารอจนแห้งสนิท เพราะมันอาจจะแน่นและแกะออกยาก แต่ถ้าแกะเร็วไปและมีบางส่วนติดออกมาก็เอาเศษอิฐมาหยอดติดลงไปใหม่ครับ






หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะครับ ขอตัวไปทำฟิกเกอร์ก่อนครับ มีอะไรคืบหน้าจะมาลงอีกทีครับ


No comments: