เทคนิคมิลลิ่ง(Milling)
โดยวิธีการก็คือการเอาเนื้องานออกแบบหนึ่ง เหมือนใช้เครื่องเจียรนั้นเอง แต่ทีนี้เครื่องมิลลิ่ง มีระบบการควบคุมที่ดีกว่า เป็นการบังคับในแกน xแกน y งานจะออกมาเรียบร้อยกว่าเพราะออกมาจากแท่น
ไม่ได้ใช้เจียรแบบฟรีแฮนด์ จากนี้ไปการมิลลิ่งผมจะเรียกว่า "การกัด" และอีกประการความเข้าใจในการกัดนี้ผมมีความรู้ระดับพื้นๆ เพราะผมไม่ได้เรียนช่างอุตสาหกรรม ผมเพียงไปอบรมงานกลึงงานกัดระยะสั้นมา ซึ่งบ.ทำโมเดลที่ผมเคยทำงานด้วยเมื่อเรียนจบป.ตรี ใหม่ๆ บังคับให้ไปเรียน 5555
ส่วนประกอบของเครื่องกัด
1.มอร์เตอร์ มีหัวจับกับดอกกัด : หน้าตาเหมือนหัวเจียรหรือสว่านไฟฟ้านั้นแหละ แต่ขนาดและสัดส่วนต่างออกไป
2.หัวกัด (milling cutter) : หน้าตาจะคล้ายดอกสว่าน แต่หัวจะตัดกว่า คุณสมบัติจะกินด้านข้างมากกว่าหน้าตรง ต่างจากดอกสว่านที่จะกินด้านหน้า(เจาะ) ข้างๆจะไม่กิน
3.แท่นจับชิ้นงาน : ด้านล่างจะเป็นมือหมุนควบคุมให้เดินหน้า-ถอยหลัง หรือซ้าย-ขวา
หลักการอธิบายแบบง่ายๆ คือ หัวกัดที่ติดอยู่กับมอเตอร์จะอยู่เฉยๆ ตัวชิ้นงานที่อยู่บนแท่นจับต่างหากที่เคลื่อนไหว วิ่งเข้าไปหาหัวกัดในทิศทางต่างๆ ซึ่งจะตรงข้ามกับการเจียรด้วยมือของเราคือ เราจับชิ้นงานไว้นิ่งๆ แล้วเอาตัวหัวเจียรวิ่งเข้าไปหาชิ้นงาน (ยกเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความแตกต่าง หวังว่าคงไม่งง)
ในที่นี้แท่นกัดมีราคาสูงมากเหมาะกับงานโมเดลอุตสาหกรรมหรืองานโมเดลสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นงานขึ้นรูปเองทุกชิ้นส่วน ถึงจะคุ้มค่าเครื่องเพราะงานในตระกูลที่กล่าวมา มีราคาค่างวดสูงตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลายแสนบาท การเอามาทำโมเดลทั่วไปถือว่าไม่คุ้มเท่าที่ควร
คนคงถามแล้วผมยกมาทำเยี่ยงไร? ผมก็ตอบได้ว่ามีทางออกที่ประหยัดโดยการดัดแปลงแทนสว่านธรรมดา(ขนาดเล็ก) และตัวจับชิ้นงานมาแปลงเป็นแท่นกัดได้ เพียงแต่ว่าการควบคุมมันยากกว่าเท่านั้นเอง แต่ประหยัดทรัพย์ไปมาก ในโอกาสต่อๆไปผมจะหาตัวอย่างการดัดแปลงเครื่องกัดมาให้ชมกัน
เรามาเข้าสู่ตัวอย่างชิ้นงานดีกว่าครับ
เนื่องจากชิ้นส่วนกระจังหน้าเราจะเห็นได้ว่าข้อจำกัดของการหล่อ หรือการรวบชิ้นเข้ากันเพื่อประหยัดพิมพ์ ทำให้ชิ้นนี้ดูตายทึบตันไปทั้งที่จริงเป็นช่องรับอากาศที่จะต้องวิ่งผ่านไปยังหม้อน้ำ และส่วนนี้เมื่อเราดูงานจากด้านหน้าย่อมเป็นจุดเด่นเห็นเป็นจุดแรก เมื่อเกิดความด้อยเราก็ควรปรับปรุงเท่าที่จะเป็นไปได้...
ฉะนั้นส่วนนี้เราต้องทำการปาดหรือกัดตะแกรงส่วนหน้าทิ้งไป เทคนิคกัดนอกจากการปาดออกในคราเดียวกันแล้ว เราก็สามารถสร้างชิ้นหม้อน้ำที่อยู่ด้านในไปพร้อมกันได้ด้วย!
การกัดทำได้ไม่ยากเท่าการตั้งชิ้นงานบนแท่นให้ได้ระดับ ชิ้นงานเราไม่ใช้ชิ้นโลหะแบบงานอุตสหกรรมที่สามารถบีบจับได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ นอกจากการจับต้องแน่นไม่เคลื่อนไประหว่างการกัด แต่ก็ไม่แน่นไปจนทำลายชิ้นงานที่เป็นวัสดุอ่อนแออย่างเช่นพลาสติคหรือเรซิ่น ก็เรียกว่าต้องหามุมดีๆมีการรองแท่นที่เหมาะสม
การกัดเราจะเริ่มจากตรงกลางออกไปหาริมแบบเดินวนไปเรื่อยๆ เพื่อความปลอดภัยเราก็ไม่ควรเดินหัวกัดลึกเกินไปในทีเดียว ค่อยๆกินไปที่ละสองสามมิลจะปลอดภัยกว่า เศษชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นระหว่าง
การกัดต้องคอยเป่าออกตลอดเพื่อไม่ให้บังชิ้นงานระหว่างปฏิบัติงาน ที่ดีควรมีโคมไฟให้แสงสว่างที่ชิ้นงานตลอดเวลา
ชิ้นงานที่กัดเสร็จแล้ว จะเห็นว่ามีช่วงมุมขวายังเก็บงานไม่หมด แต่ไม่เป็นไรเราสามารถมาแต่งด้วยเครื่องมือทั่วไปเช่นมีดอาร์ทไนฟ์ ตะไบ กระดาษทรายภายหลังได้อีก
แต่งด้วยเครื่องมืออีกเล็กน้อยก็จะได้ชิ้นงานที่เรียบร้อย ผิวหน้าจะเกลี้ยงแบบเรียบอย่างหมดจด ในชั้นตอนต่อไปผมก็จะใส่รายละเอียดหม้อน้ำอีกเล็กน้อยและจะขึ้นกระจังหน้าด้วยโฟโตเอชตะแกรง (ตอนต่อๆไปครับ)
ผมมีตัวอย่างเพิ่มเติมคือตัวแชทซี่บางครั้่งเขาหล่อชิ้นส่วนมาติดๆกัน จนมีน้ำหนักมาก ในยานยนต์บางแบบส่วนรับน้ำหนักค่อนข้างอ่อนแอ เพื่อลดความเสี่ยงโครงสร้างชิ้นงานงอหรือทรุดในอนาคต(อันใกล้) ผมก็ใช้การกัดเข้าไปในชิ้นส่วนเพื่อคว้านเนื้อเรซิ่นออกเพื่อลดน้ำหนัก ในตัวอย่างนี้ผมเอาน้ำหนักออกได้เกือบครึ่งหนึ่ง
ส่งท้าย
บล็อกนี้ต้องขอบคุณแฟนเก่าๆที่ยังมาติดตามงานกัน เพราะดูจากตัวนับแล้วแต่ละเดือนยังมีคนมาดูราว 500 คลิกต่อเดือน ถึงจะน้อยสำหรับเวปหรือบล็อกที่เคลื่อนไหว แต่สำหรับบล็อกที่แทบจะไม่อัพเดทเลยถือว่ามากจริงๆครับ ขอบคุณจากใจจริงอีกครั้ง
ผมสัญญาว่าจะพยายามปลีกตัวจากงานประจำ งานต่างๆ..มาสร้างสรรค์บทความใหม่ๆที่จะเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านมากเท่าที่เวลาอำนวย หลายครั้งมีข้อมูลใหม่ๆหรือเจอเอกสารข้อมูลเก่าๆที่ผมใช้ประกอบการทำงาน ซึ่งน่าจะนำมาสร้างเป็นบทความจริงๆแต่ผมก็ไม่มีเวลาพอจะมาเขียน เมื่อเวลาผ่านไปผมก็จะลืมเสียอีก...
ถึงหน้าที่การงานผมจะเปลี่ยนไปมาก มีภาระงานรับผิดชอบเยอะ แต่งานโมเดลเป็นงานอดิเรกที่ผมรัก เล่นแต่สมัยยังเล็กๆ มิตรสหายหลายคนคบกันมาหลายสิบปีก็จากโมเดล การไม่เห็นผลงานไม่ใช่การทิ้งหายไปไหนอย่างแน่นอน ผมยังคงทำงานใหม่ๆเสมอ แต่ผมออกจะรักความเป็นส่วนตัวมากตามภาษาคนทำงานศิลปะ
No comments:
Post a Comment