Saturday, August 6, 2011

Fall of The Reich, Berlin 1945
part 4
Modeled by Thor Intararangson
ผลงานของคุณต่อลาภ อินทรเรืองศร
*ลงครั้งแรกในเวป MSOT ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2553


วันนี้นำเสนอวิธีการทำซากปรักหักพังต่างๆ ต่อครับ ซึ่งทางทีดีเวลาทำ ลองหาดูรูปจากสงครามจริงๆ มาดูก่อนจะช่วยได้มาอย่างตัวตึกที่ผมทำนั้นจะมีโครงสร้างเป็นอิฐและไม้ผสมกัน เวลาทำจึงต้องคำนึงถึงการที่ส่วนต่างๆ เหล่านี้โดนทำลาย อาจจะจากการทิ้งระเบิดหรือโดนปืนใหญ่ ก็จะกระจัดกระจายลงมากองรวมๆ กันที่พื้น

ในรูปแรกนี้ จึงต้องเอาส่วนต่างๆ แยกไปทำสีไว้ก่อนครับ เพื่อความสะดวก ทั้งเศษไม้ โครงหลังคา ชิ้นส่วนใหญ่ๆ ของตึกที่หักพังลงมา รวมถึงอิฐก้อนเล็กๆ ที่กระจายอยู่ด้วยครับ (ตัดจากปูนปลาสเตอร์แล้วเกลาให้ได้ทรง)
เพราะบางชิ้นนั้นเมื่อเราติดลงทับรวมๆกันแล้ว มันจะเพนท์เก็บยากครับ

ส่วนที่อยู่ในกระป๋องสีส้มๆนั่น เป็นอิฐมอญที่ขอมาจากที่ก่อสร้าง แล้วเอามาทุบให้ละเอียดครับ เพื่อเอามาโรยเป็นเศษซากหักพัง เพราะว่าสีนั้นจะเข้ากันอยู่แล้ว อาจจะแค่แต่งเพิ่มอีกบางส่วน สำหรับอุปกรณ์ที่จะใช้ยึดทุกส่วนให้อยู่ร่วมกันคือกาวลาเท็กซ์ครับ แนะนำของ TOA แห้งแล้วจะเหนียวแน่นดีมาก

ฐานหลังจากที่นำไปทำสี และทำการเวทเธอริ่งเสร็จแล้วครับ นำรถมาติดให้เรียบร้อย


(ภาพก่อนโรยอิฐมอญ:Luck)

จากนั้นก็เอาเศษชิ้นใหญ่ๆ ลองจัดวางลงไปครับ แล้วติดด้วยกาวลาเท็กซ์ ใช้ช้อนเล็กๆ ตักเศษอิฐมาโรยลงไปทีละนิดครับ เอากาวลาเท็กซ์มาผสมกับน้ำ ให้ไม่ข้นหรือใสจนเกินไป แล้วใช้พู่กันเบอร์ 1-2 จุ่มกาวไปหยดลงบนกองอิฐที่โรยไว้ครับ สังเกตุได้ง่ายๆว่าอิฐที่ดูดกาวไปแล้วสีจะเข้มขึ้นครับ แต่ถ้ากาวข้นเกินไป เวลาหยดลงบนกองอิฐมันจะจับเป็นก้อนด้านบนและไม่ซึมลงไปครับ แต่ถ้าใสเกินก็จะซึมอย่างรวดเร็วแต่ก็จะไม่ติดกันแน่นพอ

ด้านหลังจะมีช่องว่างระหว่างตัวรถกับตัวตึกอยู่ครับ แต่อยากจะให้มีเศษอิฐกองเยอะๆ ต้องเอาเศษพลาสติกมากั้นเอาไว้ก่อน จะได้ไม่ล้นออกมา

เวลาทำนั้นต้องโรยอิฐและทากาวทีละชั้นครับ เพราะถ้าโรยหนาไปกาวอาจจะซึมลงไปไม่ทั่วถึง ดังนั้นพอลงกาวชั้นแรกเสร็จก็เอามาอิฐมาโรยเพิ่ม และก็ลงกาวใหม่ ถ้าอยากได้กองหนาๆก็ทำหลายรอบหน่อยครับ แต่ถ้ากองใหญ่จริงๆ เอาปูนพลาสเตอร์มาเทก่อน แล้วค่อยเอาอิฐมาโรยแล้วลงกาวจะดีที่สุดครับ ส่วนเศษไม้ เศษอิฐและอาคาร ที่ทำสีแยกไว้ ก็ค่อยมาจัดวางและทำไปทีละจุดครับ

ข้อดีของกาวลาเท็กซ์คือสามารถลงทับได้หลายรอบครับ และเวลาแห้งแล้วก็จะใสและมองไม่เห็น มันจะเหมือนฟิลม์ใสที่ยึดเกาะชิ้นส่วนไว้ด้วยกัน และติดได้แน่นหนาดีครับ ชิ้นเล็กๆน้อยๆที่เห็นกระจายอยู่ทั่วๆนั้น ติดได้แน่นในระดับนึงครับ ถ้าไม่ไปสะกิดแรงๆก็ไม่หลุด ขึ้นอยู่กับจุดที่ผิวสัมผัสกับพื้นครับ ถ้ารู้สึกว่าไม่แน่นพอก็ลงกาวเพิ่มได้ ส่วนข้อเสียคือใช้เวลาแห้งสนิทจริงๆอย่างน้อยวันนึงครับ ในระหว่างที่ยังไม่แห้งนั้นจะยังไม่ติดกันและขยับได้

ดังนั้นถ้าทำทุกส่วนและจัดวางตามแบบที่ต้องการได้เรียบร้อยแล้ว ก็ทิ้งไว้เฉยๆ วันนึงอย่าไปโดนมันอีกครับ รอวันรุ่งขึ้นแล้วค่อยมาขยับชิ้นส่วนที่ติดไว้ดู ถ้าตรงจุดไหนที่ไม่สนิทค่อยเอากาวมาลงใหม่อีกรอบครับ

เสร็จแล้วเป็นแบบนี้ครับ ที่เห็นนี่ยังไม่แห้งสนิทดี เพราะถ้าแห้งสนิททั้งหมดจริงๆ กองอิฐที่โรยไว้จะกลายเป็นสีส้มเหมือนในตอนแรกครับ ส่วนด้านหลังที่เอาแผ่นพลาสติกกั้นไว้ เมื่อทำเสร็จทั้งหมดแล้วค่อยมาแกะออกครับ อย่ารอจนแห้งสนิท

ส่วนด้านหลังที่เอาแผ่นพลาสติกกั้นไว้ เมื่อทำเสร็จทั้งหมดแล้วค่อยมาแกะออกครับ อย่ารอจนแห้งสนิท เพราะมันอาจจะแน่นและแกะออกยาก แต่ถ้าแกะเร็วไปและมีบางส่วนติดออกมาก็เอาเศษอิฐมาหยอดติดลงไปใหม่ครับ






หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะครับ ขอตัวไปทำฟิกเกอร์ก่อนครับ มีอะไรคืบหน้าจะมาลงอีกทีครับ


Fall of The Reich, Berlin 1945
part 3
Modeled by Thor Intararangson
ผลงานของคุณต่อลาภ อินทรเรืองศร
*ลงครั้งแรกในเวป MSOT ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2553


วันนี้ก็เลยมีมาอัพเดทเพิ่มกันให้ดูอีกบางส่วน เป็นการทำคราบฝุ่นที่พื้นครับ

ตอนที่ทำผมลืมถ่ายขั้นตอนแรกไว้ คือการ wash ด้วยสีน้ำมัน raw umber ก่อนเป็นขั้นแรก
เพื่อเน้นร่องรอยต่างๆบนพื้น และเป็นการย้อมให้สีที่ลงไว้หลายเฉดดูกลมกลืนกันครับ

ส่วนขั้นที่ 2 หลังจากทิ้งไว้ให้แห้งแล้ว ก็ทำคราบฝุ่นด้วย สีฝุ่นของ MIG ผมใช้ 2 สี คือ Light dust กับ Europe dust มาผสมกัน แล้วเอาทินเนอร์ของ MIG (Thinner for washes) มาผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำไปทาให้ทั่วครับ ให้สีไหลลงไปค้างตามร่องอย่างในรูป (ภาพแรกของบทความ:Luck)


หลังจากแห้งแล้วก็เอานิ้ว หรือทิชชู่ไปถูออกเบาๆครับ

ก็จะได้ออกมาแบบนี้ครับ

ข้อดีของสีฝุ่น MIG คือ ถ้าเราใช้ Thinner for washes ผสม สีฝุ่นจะแค่เกาะผิวครับ เอามือลูบหรือเช็ดออกได้ แต่ถ้าผสมด้วย Pigment Fixer สีฝุ่นจะยึดเกาะได้ดีกว่านี้ และเช็ดออกยาก ส่วนสีฝุ่นแบบแท่งที่มีขายทั่วไป ก็ใช้ได้เช่นเดียวกันครับ แต่ต้องเอามาขูดให้เป็นผง และผสมให้ได้สีตามต้องการด้วยตัวเองครับ ซึ่งคุณภาพถ้าเทียบกันแล้ว เนื้อสีฝุ่นของ MIG มีคุณภาพดีกว่า แต่มีข้อเสียคือ ราคาแพงและหาซื้อยากครับ และสีฝุ่นเวลานำมาใช้ในงาน ควรจะผสมให้สีสว่างกว่าที่ต้องการครับ เพราะเวลาที่พ่นเคลียร์เพื่อเคลือบชิ้นงาน สีฝุ่นจะเข้มขึ้นครับ

ส่วนอีกวิธีในการทำ สำหรับท่านที่ยังไม่มีหรือหาซื้อสีฝุ่นไม่ได้ ลองใช้สีอะครีลิคสูตรน้ำครับ อย่างที่ผมใช้เป็นแบบหลอด เอาสีเยลโล่ว์โอ๊ค ผสมกับขาว และน้ำตาลนิดหน่อย ให้สีออกโทนสีทรายครับ
จากนั้นผสมกับน้ำ แล้วละเลงให้ทั่ว ให้สีวิ่งไปเกาะตามร่องเอง ถ้าตรงไหนที่หนาไปก็เอาน้ำทาเกลี่ยครับ

หลังจากแห้งแล้ว จะได้ออกมาดังภาพ งานชุดนี้เป็นงานที่ทำก่อนหน้านี้ครับ ช่วงที่ลองทำเทคนิคหลายๆแบบให้งานมันไว 3 ชิ้นที่เห็นไม่ได้ใช้สีฝุ่นเลยครับ การแต่งเก่า ทำด้วยสีอะครีลิคและสีน้ำมันเป็นหลัก และใช้สีสูตรทินเนอร์ ผสมสีในโทนสีกาแฟใส่นม มาพ่นคลุมอีกที เพื่อให้สีทั้งหมดกลมกลืนกันครับ

ส่วนวิธีการทำซากปรักหักพังนั้น ไว้จะมาลงให้ดูกันอีกทีครับ






(ภาพประกอบซากปรักจากงานอื่นของคุณต่อลาภ:Luck)




kettenkrad
ส่วนนี่เป็นภาพรถ kettenkrad ครึ่งตัวที่ทำสีเสร็จแล้วครับ เหลือแค่แต่งคราบฝุ่นอีกนิดนึง ผมเคยลงภาพตอนที่พ่นสีพื้นไว้อย่างเดียว หลังจากที่ผ่านการเวทเธอริ่งด้วยเทคนิคต่างๆ แล้ว ก็จะได้ออกมาอย่างที่เห็นครับ

โดยทำรอยถลอกและรอยขูดขีดต่างๆด้วยสีกันเซ่ กับพู่กันเบอร์ 0 เล็มขนให้เล็กเรียวครับ แล้วค่อยทำการ wash และทำคราบสกปรกต่างๆด้วยสีน้ำมัน ให้เก่าๆโทรมๆ เหมือนโดนทิ้งไว้ครับ ส่วนช่วงล่างนั้นใช้สีฝุ่น pigment ของ MIG ด้วยวิธีการสะบัดสีจากพู่กัน สีจะกระจายเป็นจุดๆเหมือนโคลนกระเด็นครับ วิธีนี้เหมือนกับการเอาแปรงสีฟันไปจุ่มสีแล้วเอานิ้วไปปาดที่ขนแปรงให้สีกระเด็นน่ะครับ(ค้นคว้าเพิ่มเติมที่ link นี้:Luck) ส่วนพวกเศษอิฐที่เห็น ก็ติดและทำสีลงไปให้เรียบร้อยเลย เพราะจะต้องเอารถไปติดกับฐาน