Wednesday, July 6, 2022

Lauster Recovery tractor No.5

Lauster Recovery tractor No.5
New Connection 1:35 scale resin kit

งานเป็นเรซิ่นล้วนๆ แปลกที่สุดเท่าที่เคยทำ รถคันนี้เคยเห็นคันจริงผ่านตามาบ้างในหนังสือแต่ก็ไม่เห็นเต็มคัน (มีรูปน้อยมาก) มักจะไปจัดในหมวดรถไถ (ฮา) เห็นแล้วนึกถึงรถประหลาดทั้งหลาย ใน Star Wars

เท่าที่ค้นไม่มีการตั้งชื่อ... แค่เรียกตามชื่อของบริษัทผู้ผลิต แล้วตามด้วยหมายเลข ของรถแต่ละแบบ(มีแบบละคัน) ทั้งหมดที่ทดลองไม่มีแบบใดรอดไปผลิตจำนวนมากได้เลย...(ดูหน้าตาแล้วก็ไม่น่ารอด) 

จุดประสงค์ของมันใช้เป็นรถลาก(recovery tractor) หรือรถกู้ซ่อมรถถังหนัก เช่น Tiger, Panther ข้อมูลบอกสามารถชักลากได้ถึง 53 ตัน...มันเองก็หนักไปถึง 36 ตันแล้ว...(มีต่อ)
 
เรซิ่นชุดนี้ผลิตโดย New Connection บริษัทนี้ได้ลาโลกไปนานแล้ว งานเป็นของเก่าเก็บท่าน owner ที่ถูกซื้อไว้ตั้งแต่สมัยบริษัทนี้ยังรุ่งเรือง ....ในการทำจริงแล้วชุดเรซิ่นของ New Connection ถือว่าโหดร้าย-เลวน้อยกว่า Cromwell, Commander, Azimut, Yellow Cat ฯลฯ...จะมีปัญหาหนักก็ที่ล้อ คงเพราะปลายแม่พิมพ์แล้ว เริ่มฉีก นอกนั้นส่วนอื่นก็สามารถทำไปได้ตามปกติ (ยากปกติ)

ส่วนที่น่ากังวลที่สุดคือผนังลำตัวแผ่นบาง(กลัวบิดหลังทำเสร็จ) หากลำตัวหล่อตันจะทำงานง่ายมาก เรซิ่นอาจจะหนักหน่อย แต่ลดภาระราคา ลดความยากการประกอบไปเยอะ แต่อนิจจาบริษัทเขาคิดเล่นใหญ่...ให้ภายในมีรายละเอียดด้วย..ทั้งชุดเกียร์เอย..เครื่องยนต์เอย ทั้งสองยูนิตหน้า-หลังมีภายในด้วยกันทั้งคู่....ถึงจะกลวงแล้วน้ำหนักงานยังตกราวหนึ่งกิโลได้! .....เคยอ่านสัมภาษณ์ว่า New Connection ต้องการฉีกกฎโมเดลเรซิ่นที่ต้องหล่อตัน ไม่สามารถหล่อบางมีภายในได้ จะโชว์เหนือกว่าเจ้าอื่นว่าอย่างนั้นเถอะ

แกนล้อในแปลงยึดด้วยสกรูแทนกาว ส่วนล้อจริงเนื่องจากขอบล้อมีความลึกมากและลงพอดีแกนใน จึงแค่สวมไม่ต้องติดกาว ก็แน่หนาแล้ว ข้อดีเวลาต้องซ่อมแซมเมื่องานมีปัญหา หรือเอามาเวทเทอร์ริ่งเพิ่มเติมก็สามามรถทำได้ง่าย

มีเรื่องของลายพรางที่พิเศษสักหน่อย เดียวทำรูปเสร็จจะมาลงเพิ่มอีกนิด จะได้อธิบายถึงการตีความลายออกมาเป็นลักษณะนี้ 

ปล.ผมจะมา edit แก้เพิ่มเติม ถ้ามาอ่านแต่ละครั้งจะต่างไป ใช้เวลาซักนิดหนึ่งถึงจะสมบูรณ์ อาศัยทำที่ละนิดที่ละหน่อย ถ้าข้อความนี้หายไปแสดงว่าผมเขียนสมบูรณ์แล้ว...


ลงกรุ๊ป MSOT เมื่อ ๒๐ ม.ค. ๖๓ /เป็นการลงครั้งที่ มีรูปและการเขียนเต็มที่ เป็นรถที่มีข้อมูลอยู่น้อยต้องค้นคว้่ข้อมูลจากหนังสือภาษาเยอรมัน

เป็นงานแบบฟูลคิทชิ้นแรกของ New Connection ตอนมันออกมาครั้งแรกจำไม่ผิดน่าจะช่วงปี 2000 ได้เห็นในเวปและอ่านรีวิวจากหนังสือ MMiR (ไม่แน่ใจว่าตัวย่อใช่ i บล็อดเล็กรึเปล่า?) หรือ Military Miniatures in Review ชื่ออย่างยาว ทรงคล้ายชื่อวารสารทางวิชาการที่ออกโดยสถาบัน หรือมหาวิทยาลัยแบบนั้น นึกขันในอารมณ์ฝรั่งที่จริงจัง แล้วเป็นวารสารที่ผมชอบมาก เขียนกันอย่างดุเดือด ภาพสีมีอย่างน้อยแถม 80% เป็นขาวดำ ฮาร์ดคอร์มาก ทุกวันนี้ไม่ได้ติดตามแล้ว ยังมีชีวิตดีกันอยู่รึเปล่า?
คงเพราะสมัยนิยมเปลี่ยนไป คนให้ความสนใจเรื่อง construction & history น้อยลงหรือไม่สนเลย(ฮา) ก็คงไม่พ้นกาลปาวสานไป...

คิทตัวนี้ดีชั่วก็อ่านตามคำพรรณาของฝรั่งว่าไปนั้นละ รูปจริงจะหาดูตามอินเตอร์เน็ตได้เล็กน้อย เวปไซด์ของบริษทผู้ผลิตนี้อย่างจิ๊บจ้อย...ถ้านึกไม่ออกมันยุคนั้นเก่าขนาดไหน โหลดรูปไม่ถึง 200 kB ยังเป็นนาทีเลย หรือนึกถึงตลับพล็อตบี้ดิสเก็บข้อมูลนั้นละใช้เก็บข้อมูลภาพโมเดลจากอินเตอร์เนทกัน เพราะคอมส่วนตัวไม่มีอาศัยใช้คอมมหาวิทยาลัย

ผ่านมาเกือบ 20 ปีถึงได้จับ แล้วมันก็ดีอย่างฝรั่งท่านบรรยายไว้จริง คนที่ออกแบบตัวมาสเตอร์ เก่งมากๆ อันนี้ขอปรบมือ จริงมีชื่อด้วยนะอ่านเจอนานจนลืมไปแล้วว่าชือกะไร คิดว่าปัจจุบันนี้เขาน่าจะอายุเข้า 60 ไปแล้ว ขอบคุณมากที่สร้างสรรค์ตัวมาสเตอร์หายากหลากหลายให้ได้เล่น ได้ให้โรงงานจีนได้ไปลอกกันสบายไปด้วย (ฮา)































 ***หมายเหตุ***

อันเนื่องด้วยในช่วงสองสามปีก่อน เคยเอาผลงานใหม่ๆไปลงที่กรุ๊ป MSOT 
.......ได้ทดลองเขียน/ถ่ายภาพ ตั้งใจเหมือนทำคอลัมน์แบบสั้นๆ ทดลองการตัดแปะภาพ ลองใช้ วาคอมเขียนบรรยายด้วยลายมือในภาพ อธิบายขั้นตอนการดัดแปลงที่ละเอียดมากกว่าที่เคยทำลงในสื่ออื่นๆ หวังใจว่าจะเป็นไอเดียในการสร้างงานอีกแนวหนึ่ง  
.......การเขียนลงใช้ผ่านแอคเคานต์เพจของบริษัทผมในการเขียน เหตุผลคือไม่อยากใช้แอคเคานต์ส่วนตัวลง เพราะลงก็จะมีคนมาขอแอด แล้วแน่นอนผมก็จะไม่รับแอด มันจะทำให้เสียความรู้สึกกัน เฟสบุ๊คส่วนตัวที่ใช้รับแต่ที่เพื่อนโรงเรียนเก่า เพื่อนนอกศิลปากรที่เคยออกไปเขียนแลนด์สเคปวันหยุดด้วยกัน(กิจกรรมนี้ทำสม่ำเสมออยู่ 3-4 ปี) คงมีคนสงสัยเรื่องนี้ถือว่าทำเชิงอรรถกันไว้เลย
.......แล้วคิดว่านี้เป็นการโปรโมทหางานก็คงไม่ใช่ เพราะทุกวันนี้ผมมีงานโมเดลรับจ้างทำค้าง เกิน 50 ชิ้น ด้วยความเร็วที่ทำต้องใช้เวลาถึง 1-2 ปีกว่าจะทำส่งได้เสร็จหมด ในความเป็นจริงถึงงานยังส่งมอบไม่หมด ลูกค้าส่งงานใหม่เข้ามาจองคิว(อีกแล้ว!) ฉะนั้นงานถึงทำไม่จบสักที ทุกวันนี้งานโมเดลจึงเป็นภาระงานมากกว่างานอดิเรก
.......กรุ๊ปที่นำงานไปลง มีความเปลี่ยนแปลง ผมไม่ทราบเบื้องหลัง(ถึงมีอะไรผมก็ไม่อยากรับรู้) มีการเปลี่ยนกฎ แอคเคานต์ที่เป็นเพจจะไม่สามารถโพสต์ได้อีก ผมจึงคิดรวบรวมงานในชุดนี้(อย่างทุลักทุเล)นำมาโพสต์ใหม่ ในบล็อกแห่งนี้ที่ ใครใคร่อ่านใคร่คิดถึงก็แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนกันตามอัธยาศัย….

Type 97 Shi-ki

IJA Type 97 Shi-Ki 
Tamiya 1:35 + MR conversion

ขออนุญาตนำเสนอรถยอดนิยม Type 97 แบบรถบังคับการ รถถังชนิดนี้(ช่วงล่าง)ถูกดัดแปลงใช้งานหลากหลายหน้าที่ จะเทียบกับฝั่งยุโรปคงเท่ากับ Panzer 4 คงจะไม่เกินจริง 

เป็นงานที่ทำเสร็จในช่วงหยุดปีใหม่
งานนี้พิเศษด้วยเนื่องจากเป็นรถชนิดที่ไม่มีใครผลิตออกมาเลย นอกจากใช้ชุดแต่งเรซิ่นของ MR (เยอรมัน) บางแหล่งข่าวบอกว่ามียีห้อเรซิ่นของญี่ปุ่นออกเช่นกันแต่คงจนเกล้าที่จะไปหามาได้ ชุดแต่งที่ได้มาน่าจะอายุอานามเก่าแก่ มากกว่า 15 ปีขึ้นไปแล้ว จึงระบุให้ใช้ชุคคิทของ Tamiya ซึ่งออกปี 1975 ....

โดยครั้งแรกหวังว่าใช้ชุดคิทตามที่ MR แนะนำ จะลงตัว ปรากฎว่าไม่ลงชนิดวินาศ ถึงขั้นต้องผ่าเกราะออกมาวางใหม่เลย ตอนที่เริ่มทำหาชุดคิดไม่ได้....ท่านเจ้าของงานเลยมอบชุดกรุโมเดลที่ต่อไว้สมัยเด็ก(ไม่ได้ทำสี)เพื่อให้ใช้เป็นตัวพื้นฐาน เลยกลายเป็นโมเดลที่ต่อกันสองมือข้ามหลายทศวรรษ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ผมเลยปล่อยรถตามสภาพเดิมไม่ได้แก้รายละเอียดของ Tamiya (ให้เท่าเที่ยม Fine Molds) เปลี่ยนเฉพาะของ MR ให้มาเท่านั้น เพื่อคงสภาพผลงานท่านเจ้าของอยู่ในงานชิ้นนี้ไปพร้อมกันด้วย ....


supervisor & finishing/ Luck
construction & camouflage/ Prew

8 ม.ค. 2563

#DEVARIDH #35scale #type97 #shi_ki