Tuesday, December 13, 2011

Fall of The Reich, Berlin 1945 part 7

Fall of The Reich, Berlin 1945
part 7
Modeled by Thor Intararangson
ผลงานของคุณต่อลาภ อินทรเรืองศร
*ลงครั้งแรกในเวป MSOT ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2553

หลังจากที่เพนท์ฟิกเกอร์เสร็จ ก็ไปทำสีเพิ่มส่วนของอิฐที่โรยเข้าไปในฉาก ให้สีทั้งหมดดูกลมกลืนกันครับ แล้วก็ทำคราบสกปรกต่างๆรวมถึงการ Wash ด้วยสีน้ำมัน เพิ่มสายไฟ ที่พาดมาจากตัวตึกด้วยการยืดพลาสติกแล้วค่อยๆติดด้วยกาวช้าง จากนั้นก็ทำคราบฝุ่นด้วยสีฝุ่นแบบแท่ง ผสมกับ pigment ของ MIG ครับ ที่เห็นเป็นฝุ่นเม็ดๆนั้น ทำโดยวิธีใช้ thinner for wash หรือ pigment fixer ของ MIG (หรือจะใช้ turpentine หรือ ทินเนอร์ X-20 ของ Tamiya ก็ได้ครับ)ทาชโลมลงไปในบริเวณที่ต้องการให้ชุ่มๆก่อน แล้วเอาพุ่กันแห้งๆ จุ่มที่สีฝุ่น หรือ pigment แล้วเอาไปเคาะด้วยนิ้ว ให้สีมันกระเด็นลงไป ก็จะได้เอฟเฟ็คของสีแบบเม็ดๆอย่างที่เห็นครับ หลังจากนั้นก็พ่นเคลียร์ด้านคลุมทั้งหมด แล้วจึงเอาพลาสติกใสมาตัดเป็นเศษกระจก ขั้นสุดท้ายก็เอาไม้บัลซ่ามาตัดทำกรอบฐานไม้ และทาเคลือบผิวไม้ด้วยแชล๊คอีกทีเพื่อความสวยงาม ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ครับ

ภาพผลงานโดยรวม















Fall of The Reich, Berlin 1945 part 6

 Fall of The Reich, Berlin 1945
part 6
Modeled by Thor Intararangson
ผลงานของคุณต่อลาภ อินทรเรืองศร
*ลงครั้งแรกในเวป MSOT ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2553

วิธีการเพนท์สีชุดแบบสีพื้นและสีลายพราง

การเพนท์สีชุดแบบสีพื้นสีเดียว วิธีของผมจะเป็นการทำสีแบบลงพื้นสีเข้มไว้ก่อน แล้วค่อยๆผสมให้สีอ่อนขึ้นแล้วทาเกลี่ยเพิ่มน้ำหนักทีละชั้น บางครั้งอาจจะต้องทาเพิ่มน้ำหนักถึง 3-4 รอบ ครับ แล้วแต่น้ำหนักของสีที่ต้องการ ยิ่งทาหลายรอบ ความกลมกลืนของสีก็จะยิ่งมากครับ สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้เพราะสีเชื้อทินเนอร์นั้น เวลาทาลงบนพื้นผิว มันจะไม่ผสมไปกับสีแรกที่ลงไว้ ถ้าเราลงสีพื้นไว้เข้ม แล้วเอาสีที่อ่อนกว่ามาทาลงไปเลย สีก็จะตัดกันชัดเจน แต่ถ้าผสมให้สีอ่อนขึ้นทีละนิด แล้วทาทับไปทีละชั้น ความกลมกลืนของสีก็จะมีมากกว่าครับ และจะทำให้ สีของชุดนั้นดูนุ่มนวลเหมือนผ้ามากขึ้น ไม่แข็งครับ

ส่วนเทคนิคในการทานั้น สำคัญอยู่ที่การผสมสีกับทินเนอร์และการเลือกใช้พู่กันครับ ถ้าเราผสมสีข้นเกินไป เวลาทาสีก็จะหนืดและเกลี่ยสีได้ยาก แต่ถ้าผสมทินเนอร์เยอะเกินไป เวลาทาทินเนอร์ก็จะไปกัดสีพื้นที่ลงไว้ ทำให้สีไม่เรียบครับ ดังนั้นเวลาผสมสี ให้ค่อยๆหยดทินเนอร์ทีละนิดครับ พอทาไปสักพักแล้วรู้สึกว่าสีมันข้นขึ้น ก็หยดทินเนอร์เพิ่มเข้าไปใหม่ ส่วนพู่กันนั้นพื้นที่ใหญ่ๆใช้เบอร์ 1-2 ครับ ส่วนเบอร์ 0 และ 0 พิเศษ เอาไว้ทาเกลี่ยแบบเน้นน้ำหนักและทาเก็บรายละเอียดพวกตะเข็บต่างๆ

เริ่มแรกเลยลองพื้นก่อนด้วยสีกากีเบอร์ 55 ผสมดำครับ สีกันเซ่เวลาแห้งแล้วจะค่อนข้างเงา ต้องผสมเคลียร์ด้านไปด้วยถึงจะดีขึ้นครับ แต่ผมขี้เกียจสีก็เลยออกมาดูเงาๆ รูปด้านซ้ายคือรองพื้นไว้แล้วครับ รูปด้านขวาทาเกลี่ยไปบางส่วนเช่นตรงชายเสื้อด้านหลังและแขนขวา ด้วยสีพื้นที่ผสมไว้แล้วเติมสีเบอร์ 55 ลงไปหน่อยนึงให้สีสว่างขึ้น จากนั้นก็ทาตามสันนูนบนตัวเสื้อ ถ้ายังนึกไม่ออกว่าต้องทาตรงไหน ใช้การดรายบรัชก่อนก็ได้ครับ ส่วนที่นูนจะเด่นขึ้นมา แล้วเราค่อยมาทาเกลี่ยซ้ำไปอีกที ในขั้นแรกนี้ก็ใช้พู่กันเบอร์ 1-2 ครับ ลงสีแบบหยาบๆ เพื่อกำหนดแสงเงา


จากนั้นก็นำสีเบอร์ 55 มาผสมเพิ่มลงไปให้สว่างขึ้นอีกนิดนึงมาทาเพิ่มน้ำหนักสีเป็นชั้นที่ 2 (รูปด้านซ้าย) วิธีการทาเกลี่ยสีของผม จะเป็นการทาแบบกึ่งๆดรายบรัชครับ คือเอาพู่กันจุ่มสี แล้วซับกับทิชชู่ ให้สีติดอยู่ไม่มาก พอนำไปทาแล้วลาก สีจะเข้มจากตรงจุดแรกและไปอ่อนที่ตรงปลายของการลากครับ
ซึ่งสีสูตรทินเนอร์จะแห้งไว ดังนั้นจึงต้องค่อยๆทาเกลี่ยตามสันนูนทีละส่วนๆครับ ส่วนรูปด้านขวา เอาสีเบอร์ 55 ผสมเพิ่มลงไปอีกและเติมด้วยสีขาวอีกนิดนึง ให้สว่างมากขึ้น และทาเพิ่มน้ำหนักสีเป็นชั้นที่ 3 ในขั้นนี้ก็จะใช้พู่กันที่เล็กขึ้นคือเบอร์ 0 เพื่อทาเกลี่ยแบบเน้นน้ำหนักครับ ตรงส่วนที่เป็นตะเข็บของเสื้ออย่างตรงแขน ก็จะทาแบบเว้นส่วนนั้นไว้ครับ


ขั้นสุดท้ายก็เอาสีขาวมาผสมเพิ่มไปอีกนิดหน่อย แล้วมาทาเกลี่ยเพิ่มน้ำหนักชั้นที่ 4 ในขั้นนี้ก็จะใช้พู่กันเบอร์ 0 ค่อยๆทาเกลี่ยแบบเน้นน้ำหนักอีกครั้งครับ แต่ไม่ต้องทาหมดทุกส่วน เน้นเฉพาะส่วนสันนูนที่สูงที่สุดของรอยยับ ในส่วนที่เป็นเงามืดอย่างใต้แขน หรือชายเสื้อเหนือเข็มขัด ก็จะเว้นเอาไว้ครับ สำหรับส่วนที่อยู่ด้านบนและโดนแสงมากๆอย่างบริเวณ บ่า หัวไหล่ หน้าอก และท่อนแขนด้านบน ก็เอาสีขาวผสมอีกนิดนึงและมาทาเกลี่ยให้เป็นส่วนที่สว่างที่สุด


ส่วนอุปกรณ์ต่างๆก็ใช้วิธีการทาสีแบบเดียวกันครับ อย่างกระเป๋าแมกกาซีนปืนนี้ ลองถ่ายรูปมา แต่ไม่ค่อยชัด แต่พอจะเห็นว่าสีจะไล่จากเข้มไปอ่อนขึ้น และส่วนที่ป็นร่องตะเข็บก็จะทาแบบเว้นเอาไว้


ส่วนสีของกางเกงและห่อผ้านั้นก็ใช้สีเบอร์ 55 เป็นสีพื้นเช่นเดียวกันครับ แต่ผสมให้สีอ่อนขึ้น แล้วค่อยๆทาเกลี่ยเพิ่มน้ำหนักสีเช่นเดียวกัน จากนั้นก็ทาเก็บรายละเอียดต่างๆเช่น เครื่องหมายบนบ่า กระดุม เหรียญ ส่วนสีของปืนที่เป็นลายไม้และเข็มขัด ใช้การทาเกลี่ยด้วยสีอะครีลิคครับ จากนั้นก็ทำสายสะพายปืนและสายรัดที่หมวกด้วยแผ่นตะกั่ว ที่เหลือก็รอเอาไปพ่นเคลียร์ด้าน กับเพิ่มคราบฝุ่นตามชุดตอนเอาไปวางในฉากครับ
วิธีการทาสีชุดแบบสีเดียว ที่ผมนำมาลงนั้น อาจจะดูยุ่งยากและใช้เวลาเยอะซักหน่อย แต่ถ้าได้ลองทำบ่อยๆจนชำนาญแล้ว จะทำงานได้ไวและไม่ยากอย่างที่คิดครับ และผลที่ออกมานั้น ถึงจะยังเกลี่ยได้ไม่เนียนเท่ากับสีอะครีลิค แต่ก็คุ้มกับความพยายามครับ

 -----------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับการเขียนลายพรางนั้น จะมีวิธีการลงสีที่แตกต่างกันไปตามแต่ละลายครับ ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบมาก ดังนั้นทางที่ดีเวลาจะเขียน ไม่ว่าจะลายไหนก็ตาม ควรจะลองเซิจหาภาพลายของจริงมาดูเปรียบเทียบเป็นแบบก่อนครับ และจะได้ดู สีของชุดจริงๆด้วยว่ามันแตกต่างจากสีที่กล่องโมเดลบอกมาหรือเปล่า แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็ดูตามภาพหน้ากล่องก็ได้ครับ ส่วนวิธีการเขียนลายไม่แนะนำให้ดูจากภาพหลังกล่อง (โดยเฉพาะ Dragon)เพราะจะเป็นแค่ลายที่ลงให้ดูแบบง่ายๆ แต่จะไม่ถูกต้อง ตามรูปแบบของลายจริงครับ

หลังจากที่หารูปมาได้แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ มองรูปแบบของการเขียนลายให้ออกครับ ว่าใช้การวางลายแบบไหน เขียนลายแบบโค้งมนหรือแหลม มีรอยหยักหรือเหลี่ยมๆ อย่างลายที่ผมเขียนในครั้งนี้ จะเป็นลาย Peas 44 Pattern ซึ่งจะวางลายแบบเป็นก้อนและมน ไม่เหลี่ยม สีคละๆกัน แล้วมีจุดสีทับกันไปมาอีกที สิ่งที่สองคือ ดูว่าสีบนชุดนั้นมีกี่สี และสีไหนมีพื้นที่มากที่สุด เพื่อจะได้เขียนลายและลงสี ได้อย่างถูกต้อง เพราะบางลายที่ซับซ้อนมากๆ มันจะพาตาลายได้ง่ายๆครับ

ภาพตัวอย่างลายครับ จะเห็นว่าลายพรางบนชุดนั้น ถึงจะเป็นลายแบบเดียวกัน แต่รูปแบบการวางลายบนชุดก็จะวางไม่เหมือนกัน และสีก็จะมีทั้งเข้มและอ่อนแตกต่างกันไป เนื่องจากการที่ผลิตมาจากหลายโรงงาน รวมไปถึงการผ่านสภาพการใช้งานมา ดังนั้นสีและลายที่เห็นจึงแตกต่างออกไป ดังนั้นเวลาทำก็ขอให้ใช้สีที่อยู่ในโทนเดียวกับลายจริงๆก็พอครับ ส่วนสีจะอ่อนหรือเข้ม ก็แล้วแต่รสนิยมของแต่ละท่าน ส่วนภาพลายพรางที่หามาอ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นลายพรางแบบไหนถ้าหาภาพแบบในรูปด้านซ้ายได้จะดีมากครับ เพราะจะเห็นรูปแบบของลาย และสี ได้อย่างชัดเจน


สำหรับวิธีการเขียนลายพรางของผมนั้นก็จะใช้สีกันเซ่เช่นเคยครับ และพยายามผสมสี ให้ได้ใกล้เคียงกับสีของภาพที่นำมาเป็นแบบ สัดส่วนในการผสมสีจึงไม่แน่นอนครับ จะบอกเบอร์สีให้ไว้เป็นไกด์เฉยๆ ที่เหลือต้องไปทดลองกันดูครับ
(ภาพด้านซ้าย) เนื่องจากลายนี้มีสีน้ำตาลเป็นสีที่มากที่สุดบนชุด ผมจึงใช้เบอร์ 22 ผสมเบอร์ 133 ให้สีออกน้ำตาลแดงๆแล้วทารองพื้นให้ทั่ว
(ภาพด้านขวา) จากนั้นเริ่มทาลายที่ 1 ด้วยสีเข้มก่อน ด้วยเบอร์ 319 ผสม ดำ ให้เป็นสีเขียวเข้มเกือบดำ แล้วทาลงไปให้กระจายรอบๆ และเว้นระยะห่างไว้เผื่อสีอื่นๆที่จะลงตามไปทีหลังครับ


(ภาพด้านซ้าย)ใช้สีเบอร์ 21 ผสมกับเบอร์ 22 และ 133 นิดหน่อยให้สีดูออกทรายหม่นๆ ทาเป็นลายที่ 2 โดยทาแบบเป็นกลุ่มๆก่อน และทาเป็นจุดเล็กๆกระจายตามสีพื้นน้ำตาล และเขียวเข้มที่ลงไว้อีกที
(ภาพด้านขวา)ใช้สีพื้นน้ำตาลและเขียวเข้ม ทาเป็นจุดเล็กๆ ให้กระจายอยู่บนสีอื่นๆ


(ภาพด้านซ้าย)ใช้สีเบอร์ 303 ผสมเบอร์ 319 เป็นสีเขียว ทาลงไปเป็นลายที่ 3 ซึ่งสีเขียวนั้น ถ้าเทียบกับสีอื่นๆ สีนี้จะมีอยู่บนชุดไม่มากครับ ดังนั้นเลือกทาเป็นกลุ่มๆ แค่บางจุดพอ และไม่ต้องเยอะเกินไป จากนั้นก็ทาเป็นจุดเล็กๆกระจายอีกนิดหน่อยครับ
(ภาพด้านขวา)ใช้เบอร์ 319 ผสมกับเบอร์ 312 ให้เป็นสีเขียวอ่อน แล้วทาป็นลายที่ 4 แต่คราวนี้ไม่ต้องทาเป็นกลุ่ม ทาแบบเป็นจุดเล็กๆเท่านั้นครับ ให้กระจายทั่วๆ แต่ไม่ต้องเยอะมาก
จากนั้นขั้นสุดท้าย ถ้าดูแล้วลายพรางที่เขียนออกมา ยังมีพื้นที่ๆดูโล่งๆอยู่ ก็เอาสีทั้งหมดที่ลงไว้ มาทาแบบเป็นจุดเล็กๆ อีกทีครับ โดยทาให้กระจายรอบๆ ตามพื้นที่ที่ยังว่างอยู่ แต่ไม่ทาเบียดกันจนแน่นเกินไปครับ จากนั้นก็ทาสีดำตามอุปกรณ์สนามบนตัวเพื่อรองพื้นเอาไว้สำหรับขั้นต่อไป


เนื่องจากลายพรางที่เขียนออกมา ไม่ได้มีการทาแบบไล่แสงเงาแต่อย่างใด ดังนั้นมันจึงดูไม่มีมิติครับ และรายละเอียดต่างของชุดก็จะดูกลมกลืนกันไปหมด ขั้นตอนนี้จึงเป็นการเน้นรายละเอียดต่างๆของชุด ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเสื้อ ตะเข็บ รวมไปถึงรอยยับต่างๆ ให้มันดูนูนเด่นขึ้นมา ด้วยการใช้สีน้ำมันครับ วิธีนี้จะเป็นการเคลือบสีลงไปบางๆบนสีชุด คล้ายๆกับการ wash ครับ เพียงแต่จะไม่ได้ทาเคลือบลงไปทั้งชุด เลือกทาลงไปแค่ตามรอยยับ ให้สีของชุดดูเข้มขึ้นตามร่องต่างๆ และให้สีดูซีดจางและสว่างขึ้น ตามสันนูนครับ
(ขั้นที่ 1) เอาสี raw umber ผสมกับ turpentine เพื่อให้สีมันละลายและทาได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงแห้งไวขึ้นด้วย(ใช้ทินเนอร์ x-20 ของ tamiya ก็ได้เช่นเดียวกันครับ) นำไปทาตามร่องต่างๆบนชุด โดยผสมให้สีไม่ข้นหรือใสเกินไป ถ้าเวลาทาแล้วข้นเกินไป สีน้ำมันจะไปกลบสีชุดจนหมด ให้เอาพู่กันสะอาดจุ่ม turpentinn ค่อยๆทาเกลี่ยออกครับและเวลาทาก็ใช้พู่กันเบอร์ 0 และทาทีละจุด จะได้ควบคุมได้ง่าย
(ขั้นที่ 2) ใช้สี yellow ochre ผสมสีขาวนิดหน่อย นำมาทาเกลี่ยตามสันนูนอีกทีครับ โดยแตะสีมาทีละนิด แล้วค่อยๆเกลี่ยตามสันนูนของรอยยับ พยายามอย่าลงสีเยอะเกินไป เพราะสีนี้จะทำให้ดูขาวซีดได้ง่ายมาก สังเกตุในภาพ ตามร่องต่างๆที่ลงสีไว้แล้ว จะดูเงาครับ ส่วนตามสันนูนอย่างบริเวณสีน้ำตาลบนหลังชุด สีจะดูซีดลงไปนิดหน่อย
(ขั้นที่ 3)ใช้สี raw umber ผสมให้สีข้นๆ และใช้พู่กันเบอร์ 0 พิเศษ ทาเก็บรายละเอียด ตามขอบของกระเป๋าเสื้อ ปกเสื้อ รวมไปถึงตะเข็บต่างๆบนเสื้อครับ จากนั้นก็ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วพ่นเคลียร์ด้านทับครับ เพราะเวลาทาเก็บรายละเอียดต่างๆ สีน้ำมันจะได้ไม่โดนลบออกไป



หลังจากเก็บรายละเอียดต่างๆของอุปกรณ์สนาม และพ่นเคลียร์ด้านเรียบร้อยแล้วครับ ส่วนลายพรางตรงหมวกจะเป็นลาย Oak Leaf Pattern A Winter ครับ วิธีการเขียนลายก็จะแตกต่างออกไป แต่จะไม่ยุ่งยากเท่าลาย Peas 44 Pattern




Fall of The Reich, Berlin 1945 part 5


Fall of The Reich, Berlin 1945
part 5
Modeled by Thor Intararangson
ผลงานของคุณต่อลาภ อินทรเรืองศร
*ลงครั้งแรกในเวป MSOT ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2553

วิธีการเพนท์สีผิวฟิกเกอร์

ขั้นตอนที่เอามาลงครั้งนี้ เป็นการเพนท์สีผิวด้วยสีอะครีลิคในแบบของผมเองครับ ต้องออกตัวก่อนว่าแบบของผมเพราะคิดว่าแต่ละท่านก็มีวิธีการทำงานและความถนัดที่แตกต่างกัน ส่วนวิธีของผมจะเหมือนวิธีลัดครับ ถ้าท่านใดนำจะไปใช้ก็ปรับให้เข้ากับรูปแบบและความถนัดของแต่ละท่านแล้วกันครับ

อุปกรณ์ที่ใช้ครับ สีอะครีลิคที่ผมใช้มีอยู่ 3-4 ยี่ห้อครับ คือ Liquitex, Pebeo และ Louvre ราคาและคุณภาพจะอยู่กลางๆครับ เรียกว่าเป็นสีอะครีลิค student grade หลอดเล็กราคาจะประมาณ80-90 หลอดใหญ่ก็ราคาตั้งแต่ ร้อยกว่า ไปถึง สองร้อยกว่าๆครับ แต่ถ้าเป็น Artist grade ราคาหลอดเล็ก 3-400 และบางยี้ห้อก็ราคาสูงกว่านี้มาก ยังไม่เคยใช้เลยไม่รู้ว่าคุณภาพต่างกันมากแค่ไหนครับ

สีที่ใช้เพนท์ผิว มีหลักๆ 6 สีครับ
Cadmium Red, Yellow Ochre, Burnt Sienna, Burnt Umber หรือ Raw Umber,
Titanium White, Mars Black
สำหรับพู่กันที่ผมใช้เป็นของทั่วไปครับ มี 3 ขนาดคือเบอร์ 0 และนำเบอร์ 0 มาเล็มขนให้เล็กลง ให้เป็นเบอร์ 00 และ 000 ครับ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน และการเก็บรายละเอียด

                              
ขั้นที่ 1 - ก่อนทำสีผิว ควรจะทาหรือพ่นสีเนื้อรองพื้นไว้ก่อนครับ จะได้ทาสีอะครีลิคง่ายๆ จากนั้นก็เอาสี Cadmium Red, Yellow Ochre และ Burnt Sienna มาผสมกันให้ออกเป็นสีแดงๆอมน้ำตาล ขอเรียกว่า "แดง1" นะครับ จะได้จำง่ายๆ สีนี้จะใช้เป็นสีเข้มในส่วนของเงาเข้มครับ สัดส่วนในการผสมนั้นไม่แน่นอนแล้วแต่ความชอบและลักษณะงานที่ทำ ผิวของคนยุโรปก็จะผสมให้ออกแดงหน่อยครับ ส่วนคนเอเชียก็อาจจะผสม ให้สีดูออกน้ำตาลมากขึ้นครับ จากนั้นก็ทารองพื้นให้ทั่ว




ขั้นที่ 2 - ผสมสีในส่วนไฮไลท์ชั้นแรกครับ ด้วยสี Yellow Ochre กับ Titanium White อัตราส่วนเท่ากัน แล้วเอาสี "แดง1" มาผสมลงไปให้สีเปลี่ยนจากเหลืองเป็นอมส้มมากขึ้นครับ สีขั้นที่ 2 นี้เรียก "ครีม1" อ้อ ลืมบอกไป เวลาผสมสีในจานสี ต้องผสมเผื่อไว้หน่อยในทุกสีนะครับ เพราะสีอะครีลิคถ้าแห้งแล้วแห้งเลย ต้องมานั่งผสมใหม่ สีอาจจะไม่เหมือนเดิม เวลาผสมเสร็จก็เอาพูกันจุ่มน้ำมาหยอดในหลุมสีนั้นๆไว้ เพื่อให้มีความชุ่มชื้นและแห้งช้าลงครับ


ไฮไลท์ขั้นชั้นแรกนี้จะทาแบบหยาบๆ ตามสันนูนต่างๆบนใบหน้า เช่น โหนกแก้ม สันจมูก ปีกจมูก หน้าผาก เปลือกตา เหนือปากและคางครับ โดยเว้นพื้นที่ของเงาเอาไว้


จากนั้นก็มาทาเก็บดวงตา ด้วยสีขาวเจือด้วย "ครีม1" นิดนึง แล้วเอาสีดำ มาจุดตรงกลางครับ จากนั้นเอาสีขาวมาจุดนิดเดียวเป็นไฮไลท์บนตาดำ ขั้นตอนนี้ใช้พู่กันเบอร์ 000 ซึ่งขนาดพื้นที่ในการลงสีจะเล็กมาก เวลาทำเสร็จแล้วถ้าเลอะเกินขอบของเปลือกตาออกมา ก็ใช้ "แดง1" มาทาเก็บเปลือกตาใหม่ แล้วเอา "ครีม1" มาทำไฮไลท์อีกรอบครับ



ขั้นที่ 3 - ทำไฮไลท์ชั้นที่ 2 ครับ ด้วยการใช้สี "ครีม1" มาผสมกับสีขาว Titanium White ถ้าสียังดูขาวสว่างเกิน ให้เติมสี "แดง1" เจือลงไปนิดนึง สีจะดูเป็นสีเนื้ออ่อนๆครับ สีขั้นที่ 3 นี้ เรียกว่า "ครีม2" ครับ นำไปทาเกลี่ยตามสันนูนอีกรอบ แต่คราวนี้ไม่ต้องทาทับทั้งหมด




ขั้นที่ 4 - การทำเงาสว่าง ที่เรียกแบบนี้เพราะผมจะแบ่งสีของเงาจะเป็น 2 ส่วนครับ ส่วนแรกคือเงาเข้มที่อยู่บริเวณเบ้าตา เงาระหว่างแก้มกับปาก และเงาบริเวณใต้คาง ส่วนที่สองคือเงาสว่างจะอยู่บริเวณใต้แก้ม ใต้ดวงตา และตามร่องต่างๆบนใบหน้า ผสมสีเงาสว่างด้วย "แดง1" ผสมกับ "ครีม1" ให้สีแดงอมชมพู เรียกสีในขั้นนี้ว่า "แดง2" แล้วทาตามบริเวณต่างๆที่ได้กล่าวไว้ จากนั้นก็เอาสี "ครีม2" มาทาเกลี่ยตามสันนูน เก็บรายละเอียดทั้งหมดให้เรียบร้อยอีกที (ในภาพ "แดง2" คือหลุมสีขวาสุดครับ)



สี "แดง2" นั้น จะใช้ได้ในอีกกรณีคือ การย้อมสีครับ ด้วยการนำพู่กันไปจุ่มน้ำก่อน แล้วแตะสี เวลาทา น้ำกับสีจะผสมกันเองทำให้สีค่อนข้างจางและใส เอาไว้ใช้ในกรณีที่รู้สึกว่าสีที่ทำไฮไลท์มันดูสว่างเกินไป ทาทับด้วยวิธีนี้จะทำให้สีผิวลดความขาวลงและอมชมพูมากขึ้นครับ

ขั้นที 4 นี้จะใช้เวลาในการทาเกลี่ยสีนานที่สุดครับ เพราะเป็นการทาเก็บรายละเอียดของสีผิวเป็นขั้นสุดท้าย ถ้าทำแล้วไม่พอใจ สีของผิวดูสว่างเกินไปหรือเข้มเกินไป ก็ใช้สี "แดง2" และ "ครีม2" ทาเกลี่ยกันไปมา ให้สีทุกส่วนกลมกลืนจนพอใจครับ


เมื่อสีผิวเสร็จแล้วก็เก็บรายละเอียดที่เหลือ เช่นสีผม และ คิ้ว ด้วยสี Burnt Umber หรือ Raw Umber ครับ ที่ผมทำนั้นไม่ได้เกลี่ยไล่แสงเงาครับ เพราะจะมีหมวกมาปิด แต่ถ้าทำเป็นแบบไม่ใส่หมวก ก็เอาสีน้ำตาลที่อ่อนกว่า หรือเอาสี Yellow Ochre ผสมกับสีที่ใช้ทาผมให้ส่วางขึ้นแล้วมาทาเกลี่ยอีกที ส่วนหนวดเคราตัวนี้ไม่ได้ทำครับ ถ้าจะทำให้ใช้สี Burnt Umber หรือ Raw Umber ผสมกับ "ครีม2" ครับ ถ้าอยากให้หนวดเข้มๆก็ ใส่ "ครีม2" นิดเดียวแล้วทาแต้มเป็นเส้นเล็กๆ แต่ถ้าหนวดที่ดูเหมือนพึ่งโกนมาไม่นาน ก็ผสม "ครีม2" ให้เยอะหน่อยครับ สำหรับสีของริมฝีปากทาเกลี่ยด้วย "แดง2" ผสมกับ "ครีม2" ครับ พอถ่ายรูปขยายออกมาแล้วเห็นได้ชัดครับว่างานยังไม่ค่อยเรียบร้อย ตาและคิ้วยังดูเบี้ยวๆ



หลังจากที่เห็นความผิดพลาด ก็นำไปทาสีเก็บรายละเอียดเพิ่มครับ


หลังจากทำสีผิวเสร็จเรียบร้อยครับ ส่วนสีของมือก็ใช้วิธีการเดียวกันกับการทำสีใบหน้าครับ และทำไปพร้อมๆกัน เพื่อที่จะได้คอยเทียบสีของมือและใบหน้าให้ไปในโทนเดียวกันครับ



รูปที่ถ่ายขั้นตอนมาอาจจะยังไม่ได้ละเอียดมาก ผมเลยพยามยามเขียนอธิบายเยอะๆแทน ถ้าลองนำไปทำกันแล้วเกิดข้อสงสัยตรงไหนก็ถามกันมาได้ครับ