Sunday, February 15, 2015

CMP 15cwt "Kubel" part 2

WARNING
บทความนี้ผมเขียนเพราะอย่างเขียนจริงๆ เห็นเป็นเวลาเหมาะสมในช่วงเวลาอัสดงของวงการโมเดล เพราะถ้าเขียนอยู่ในช่วงผมทำหนังสืออยู่ ก็อาจเหมือนการสร้างกระแสบางอย่าง  ต่างจากเวลานี้ที่ไม่ได้มีหัวโขนอะไร  ผมซื่อสัตย์ในตัวหนังสือเสมอ...เขียนในสิ่งที่ผมคิด...เขียนในสิ่งที่ผมทำ...ผมถูกฝึกมาอย่างนี้และคงเป็นเช่นนี้ตลอดไป

บทความจากนี้ต่อไปจะซับซ้อนยืดยาวไปสำหรับคนชอบอะไรสั้นๆ ผมเขียนใส่อารมณ์แยะแยะ ล้วงแคะแกะเกาก็มาก ถ้าท่านไม่ชอบแบบนี้ควรมองข้ามไป อย่าไปสน (เรซิ่นมันก็ตกสมัยแล้วอย่ามาแลดีกว่า)

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านจะเห็นคือมุมมองของผมโดยแท้ ผมไม่ขอรับผิดชอบใดๆ เพราะท่านกำลังก้าวเข้าสู่โลกของอัตวิสัย


PRODUCTION
หลังผ่านไปหนึ่งตอนแบบมึนๆ ผมก็ขอเข้าสู่กระบวนการขึ้นเขียง หัน เจาะ ตัด แนวคิดของการทำเรซิ่นที่ต่างจากพลาสติกอย่างชัดเจนมีอยู่สามประการ เรียกว่าเป็นหัวใจของนักรบเลยก็ว่าได้

  1. ความเที่ยงตรงของชิ้นส่วนโครงสร้าง(precision)
  2. ความแข็งแรงของชิ้นงาน(construction)
  3. ลายละเอียดปราณีต(elaborate)
สามประการนี้เป็นเหมือนสามเหลี่ยมที่ประสานกัน โดยเฉพาะสองข้อแรกคือความต่างอย่างสุดขั่วเมื่อเทียบงานพลาสติค  ผมจะขยายความคิดพวกนี้สักหน่อย สิ่งสำคัญตลอดกาลในการทำงานของผม

ทั้งสามเป็นการเรียงลำดับจากสำคัญสุดไปหาน้อย หลายคนอ่านแล้วคงแปลกใจ.... อย่าได้สงสัยเลย สิ่งที่นำเสนอนี้เป็นความคิดรวบยอดของผมเอง ไม่ได้ไปลักขโมยที่ไหนมา


1. ความเที่ยงตรงที่นี้คือความตรงจริงๆ (อย่าฮา) เพราะคุณสมบัติที่เลวร้ายของเรซิ่นคือความไม่เสถียรของวัสดุ กระบวนการผลิตในช่วงคายความร้อนของชิ้นส่วน ที่มีความหนาบางต่างกันก็จะมีความร้อนไม่เท่ากันทำให้เกิดการบิดหนึ่ง  การดึงออกจากพิมพ์ในเวลาเร็วเกินไปก็มีส่วนทำให้วัสดุที่ยังอ่อนเสียรูปหนึ่ง

ถ้าแบบนั้นก็...."ทิ้งในพิมพ์จนเย็นค่อยดึงออกจะได้ไม่บิด" วิธีนี้ถูกต้องสามารถลดปัญหาได้....แต่ในความจริงการผลิตก็ต้องพยายามทำให้ได้ชิ้น/แม่พิมพ์/วัน ให้มากที่สุด โรงงานจะกำไรดี...

ถึงแม้จะแกร่งดีบิดน้อยมาจากโรงงงานแล้ว การเอามาทิ้งไว้ในสภาพอุณหภูมิสูง แรงดึงดูดโลกก็ช่วยให้มันไปกันใหญ่ได้แบบสบายๆ  ฉะนั้นสิ่งที่เราพบในงานเรซิ่น เหมือนเป็นภาพรวมที่เราประหวั่น "ชิ้นส่วนบิดๆงอๆ เหมือนข้าวเกรียบว่าว" เช่นนั้นเอง

ประการสำคัญของการทำเรซิ่น คือการทำให้ชิ้นส่วนมันเข้ารูปตรง ในทุกมิติ ในทุกแกน(ฮา) เราต้องใช้ตั้งแต่การต้ม(ผมแทบไม่ใช้) เผา ไดร้อน ตัดผ่า โป๊ว เพื่อทำให้คือสภาพใกล้เคียงความตรงที่สุด ตรงด้วยการเอาไม้บรรทัดเหล็กเล็กๆ วางทาบชิ้นงานแล้วไม่เกิดช่องว่างเลย เท่ากับ 100%  ในแนวดิ่งก็จับด้วยฉากงานโลหะ

ถ้าเป็นแผ่นระนาบไม่ว่าวัดจากมุมไหนด้วยไม่บรรทัดจะไม่มีช่องว่างให้เห็นเลย อันนี้คืออุดมคติ ในบางทีหรือบางชิ้นส่วนเราไม่สามารถทำได้เต็ม 100 แต่อย่างน้อยต้อง 90% (ฮาแต่เอาจริง)  ของจริงในงานที่ผมถือว่าผ่านได้มีช่องว่างไม่เกิน 0.5 ม.ม. (ในกรณีงานที่เลวร้ายที่สุด) โดยทั่วไปต้องต่ำกว่า 0.3 ม.ม. ช่องว่างนี้สามารถวัดด้วยพลาสติคชีทความหนาขนาดต่างๆ แต่อย่างผมทำมานานสามารถประมาณขนาดด้วยสายตาได้



2. โครงสร้างในที่นี้แบ่งออกเป็นสองลักษณะ หนึ่งคือความแข็งแรงภายในชิ้นงาน  ดังที่กล่าวถึงคุณสมบัติเนื้อในของเรซิ่นไปแล้ว เพียงแค่ทากาวเฉยๆ ไม่สามารถรับน้ำหนักของชิ้นงานได้ งานจะพังไปในไม่กี่ปีโดยไม่ต้องมีใครไปยุ่มย่าม ความเสียหายนี้เกิดจากน้ำหนักตัวมันเอง เนื้อเรซิ่น และแรงดึงดูดโลก ช่วยกันทุกวันมันก็จะแตกหักทรุดไปเอง รถล้อยางแบบผมจะนำเสนอนี้เจ๊งได้ไวที่สุด สองคือโครงสร้างภายในลำตัวที่เราต้องช่วยสร้างเสริมความแข็งแรงและกระจายน้ำหนัก

จากข้อแรกถึงแม้เราตัดดัดไดร์(อย่างซาลอน) จนเข้าที่แล้วเราต้องเสริมโครงสร้างในส่วนที่ซ่อนได้ ในชิ้นใหญ่เช่นโครงลำตัว ชิ้นเล็กส่วนที่เล็กก็ต้องใช้การเจาะฝังแกน ถ้าเจาะไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนส่วนนั้นเป็นโลหะไป ยิ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักของรถยิ่งต้องใส่ใจ คิดเสียว่าเหมือนเราซื้อรถวิ่งๆไปแหนบหัก โช๊คแตก เพลาขาด เราคงไม่อยากเจอ เหมือนโมเดลเช่นกันเพราะมันก็จำลองความจริงบางอย่างย่อส่วนลงมาด้วย แต่ในคุณสมบัติของวัตถุที่เลวกว่ามาก (อ่านตามตัวอักษรดีๆผมหมายถึงตามนี้จริงๆ)

ถ้าเราทำงานไว้สวยงามดีแล้ว ต้องมาพังภายในสามสี่ปีข้างหน้า เป็นเรื่องช้ำใจที่สุด จากที่ผมได้ประสบมาแล้วทุกวันนี้งานหลายชิ้น(งานโบราณ) เสียหายกองไว้หลายปีแล้วเพราะผมทำใจซ่อมไม่ได้ ยังไงทำมาก็คงไม่ดีเท่าเก่า จะรื้อทำใหม่หมดก็รับไม่ได้(กลัวเสียเวลา) หวังใจว่าบทความเล็กๆน้อยๆนี้คงจะสามารถชี้ทางออกให้กับการทำงานเรซิ่นได้พอสมควร


3.ติดตามตอนต่อไป...





No comments: